ทางรอดค้าปลีกสายพันธุ์ไทย

สิทธิชัย ฝรั่งทอง วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

ในหนังสือ คิดใหม่เพื่ออนาคต "Re-thinking the future" มีบทความหนึ่งที่เขียนโดยชาร์ล แฮนดี้ และเลสเตอร์ ทูโรว์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับทุนนิยม (Capitalism) ในยุคโลกาภิวัตน์ ว่า ตามหลักของทุนนิยมย่อมเคลื่อนย้ายทุนไปที่ใดก็ได้ ที่ทำให้ได้กำไรสูงสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามก็คือว่า แล้วทุนนิยมนำไปสู่อะไรบ้าง? คำตอบก็คือ ทุนนิยมจะนำไปสู่บริโภคนิยม วัตถุนิยม การแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งบางครั้งก็เข้าไปสู่การแข่งขัน ที่เรียกว่า ความไม่มีจริยธรรมหรือไร้จริยธรรม (Unethical) นำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยของชาติ การสร้างมลพิษ การทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน่ากลัว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่จะต้องคิดอย่างหนักถึงผลกระทบในด้านต่างๆ อาทิเช่น การมีต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้น ปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลพิษ ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายทุนที่จะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงของสังคม และ ความสุขของประชาชน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว กำลังส่งผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีกสายพันธุ์ไทย หรือเรียกกันว่า "โชห่วย" ที่กำลังต่อต้านการขยายตัวอย่างรวดเร็วของค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ หรือแม้กระทั่งเซเว่น อีเลฟเว่น จนทำให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมสายพันธุ์ไทย (โชห่วย) ที่ทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคสู่ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ เริ่มทยอยปิดกิจการลง และไม่สามารถอยู่รอดได้

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ และเชิญบรรดาค้าปลีกต่างชาติมาร่วมแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งทัดทานต่อการขยายสาขา ของบรรดาเหล่าค้าปลีกต่างชาติได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าทางรอดของค้าปลีกสายพันธุ์ไทยขณะนี้คือ ต้องปรับปรุงวิธีคิดและการบริหารร้านค้าใหม่ ไม่เช่นนั้นจะอยู่รอดได้ยากในยุคนี้ ซึ่งมีแนวคิดที่เป็นข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. มีระบบการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าในพื้นที่รอบๆ ร้านในแต่ละครอบครัว เพื่อบันทึกข้อมูลเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ในการสร้างสัมพันธภาพและการทำตลาด ซึ่งก็คล้ายๆ กับการทำวิจัยตลาด เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการแจกแบบสอบถาม ใช้การสอบถามพูดคุยก็จะได้ข้อมูลในการเก็บไว้ใช้ในการวางแผนได้ เช่น เก็บข้อมูลในเรื่องความต้องการของลูกค้าการซื้อบ่อย ซื้อกะทันหัน ซื้อบ่อย 1-2 ชิ้น เป็นต้น

รวมทั้งต้องมีข้อมูลสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชัดเจนในแต่ละครอบครัว รวมทั้งใช้การสร้างตลาดเชิงสัมพันธ์ (Relationship Marketing) ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นมิตรช่วยเหลือสนับสนุนต่อชุมชน ใช่แสดงตัวเป็นพ่อค้าแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ฌาปนกิจ งานวัดรื่นเริง เป็นต้น เมื่อลูกค้าจะซื้อสินค้าจะนึกถึงว่าทางร้านได้ช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนอยู่เสมอ โดยปกตินิสัยคนไทยการเอื้ออาทรต่อกันยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่

2. นำความรู้ทางการจัดการ ทักษะ และประสบการณ์มาบูรณาการเข้าด้วยกัน ในการสร้างระบบการจัดการใหม่ภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงร้านค้าให้ดูดี ทันสมัย บริหารสต็อกสินค้า การหมดอายุของสินค้า การขอเปลี่ยน/คืนสินค้า ฯลฯ หมดสมัยแล้วที่จะทำแบบที่เคยทำมาแต่ในอดีต รวมทั้งต้องมีมาตรฐานของสินค้าและบริการที่คงเส้นคงวา และมีการเก็บข้อมูลข้อเสียของค้าปลีกต่างชาติ แล้วนำมาปรับปรุงภายในร้าน

3. ติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งซัพพลายเออร์โดยตรง ซึ่งต้องรวมตัวกันระหว่างร้านโชห่วยในชุมชนใกล้เคียงกัน หรือตั้งเป็นสมาคมชมรมร่วมกับซัพพลายเออร์ในการรวบรวมคำสั่งซื้อจำนวนมาก หรือทำสัญญาระยะยาว เพื่อทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำสามารถขายได้ในราคาที่ไม่แตกต่างกับทางค้าปลีกต่างชาติ ถึงแม้ราคาเท่ากัน แต่โชห่วยก็ได้ในเรื่องของความใกล้ของสถานที่ที่ลูกค้าอยู่อาศัย ซึ่งไม่ควรไปซื้อจากค้าส่งต่างชาติ แล้วนำมาขายเท่ากับว่าส่งเสริมให้ค้าปลีกต่างชาติเจริญเติบโต รวมทั้งสินค้าที่มีจำหน่ายต้องโดดเด่น และแตกต่างจากค้าปลีกต่างชาติ หรือมีสินค้าที่เฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าในพื้นที่

4. ต้องมีการทำการส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดแลกแจกแถมมีคูปองสะสมแต้ม เป็นต้น เช่น โทรศัพท์สั่งครบ 100 บาท ส่งฟรี , แจกใบปลิว เมื่อนำใบปลิวมาซื้อสินค้าก็จะมีส่วนลดหรือสะสมแต้มแลกซื้อสินค้า เป็นต้น รวมทั้งอย่าลืมว่าข้อจำกัดของโชห่วยคือ ขายได้เฉพาะพื้นที่ ไม่สามารถขยายสาขาแข่งขันกับค้าปลีกต่างชาติได้ ดังนั้น ต้องทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Niche Marketing) ซึ่งหากคิดไม่ออก ก็ให้เลียนแบบวิธีการทำการตลาดของค้าปลีกยักษ์ใหญ่

5. กรณีมีลูกจ้างต้องดูแลแบบลูกหลาน มิใช่ดูแลแบบลูกน้อง/ลูกจ้าง/ลูกทาส บางครั้งลูกค้าซื้อก็เพราะลูกจ้างมีอัธยาศัยดี มนุษยสัมพันธ์ดี ดังนั้น การดูแลและให้โอกาสจึงเป็นตัวจูงใจที่จะทำให้ลูกจ้างรู้สึกว่างานที่ทำมีโอกาสเติบโต สามารถเป็นเถ้าแก่ได้ในอนาคต ซึ่งจะคู่ค้า (พันธมิตร) ต่อกัน

6. หากอยู่ไม่รอดจริงๆ ขอเสนอให้ทำธุรกิจในรูปของสหกรณ์แบบไม่จำกัด คือ สมาชิกทุกคนร่วมรับผิดชอบในหนี้สินทั้งปวง ของสหกรณ์โดยไม่จำกัด ซึ่งมีคณะบุคคลในชุมชนมาร่วมดำเนินกิจการและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์มีการขายหุ้น เมื่อมีกำไรก็จะนำผลกำไรที่ได้มาแบ่งปันผลให้กับสมาชิก

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจยุคนี้ หากจะรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้ออกกฎหมายควบคุม หรือนโยบายป้องกัน คงไม่ทันกาล จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดก่อนความช่วยทางภาครัฐจะมาถึง รวมทั้งต้องจับความคิดให้ได้ไล่กระแสการตลาดให้ทันแบบสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมทางการตลาด ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นั่นแหละจะเป็นคำตอบสุดท้าย